กรมวิทย์ฯ รับมอบเครื่องมือวิทยาศาสตร์ พร้อมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์จากรัฐบาลญี่ปุ่น ภายใต้โครงการสนับสนุนตอบสนองต่อสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศไทย

วันที่ 20 กันยายน 2566 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ นายแพทย์บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดร.นายแพทย์อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และคณะผู้บริหารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รับมอบเครื่องมือวิทยาศาสตร์ พร้อมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์จากรัฐบาลญี่ปุ่น ภายใต้โครงการสนับสนุนตอบสนองต่อสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศไทย 

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 รัฐบาลไทย และ รัฐบาลญี่ปุ่น ได้มีการลงนามหนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าของรัฐบาลญี่ปุ่น ภายใต้แผนงานสนับสนุนเร่งด่วนสำหรับการรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และ นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เป็นสักขีพยานการลงนามระหว่าง นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ  เป็นผู้ลงนามร่วมกับ นายนะชิดะ คะสุยะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ณ ทำเนียบรัฐบาล

ทั้งนี้ ตามแผนงานดังกล่าวจะมีการส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ในวงเงินงบประมาณ 500 ล้านเยน หรือประมาณ 120 ล้านบาท ให้แก่ฝ่ายไทย เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรค COVID-19 และเพื่อรองรับการดำเนินการภายหลังจากสถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลาย 

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ในวันนี้ ได้รับเกียรติจาก นายยูอิจิ โอบะ อัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย และนายคาซึยะ ซูซุกิ หัวหน้าผู้แทนสำนักงานองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ประเทศไทย เป็นตัวแทนของรัฐบาลญี่ปุ่น ส่งมอบเครื่องมือวิทยาศาสตร์ พร้อมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้แก่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ภายใต้โครงการ Japanese Grant Assistance the Program for COVID-19 Crisis Response Emergency Support for the Department of Medical Sciences ผ่านองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) และได้รับการอำนวยความสะดวกและติดต่อประสานงานจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โดยเป็นเครื่องมือ Lumipulse G1200 จำนวน 1 รายการ รวมเป็นเงินงบประมาณราว 70 ล้านเยน หรือมูลค่ากว่า 16 ล้านบาท สำหรับทดสอบหาแอนติเจนของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ของประเทศญี่ปุ่น สามารถนำมาใช้วินิจฉัยและเฝ้าระวังโรค สนับสนุนการตอบสนองต่อสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศไทย สำหรับเครื่องมือดังกล่าวจะนำไปติดตั้งไว้ที่ห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3 (Biosafety Level 3 laboratory) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงของประเทศ ในการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การประกันคุณภาพห้องปฏิบัติการเครือข่าย การวิจัยและพัฒนาต่างๆ ตลอดจนร่วมกับเครือข่ายป้องกันและควบคุมโรค เพื่อสุขภาวะที่ดีของประชาชน


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar
แสดงความคิดเห็น
image
ความคิดเห็น